เคล็ดลับง่ายๆ เพิ่ม Engagement ให้ Email Marketing
การทำการตลาดด้วยอีเมล หรือ Email Marketing เปรียบเสมือนเพื่อนเก่าที่รู้จักกันมานานในบางครั้งเราอาจพบว่ามันจำเจไปสักหน่อย แต่ในท้ายที่สุดอีเมลก็ยังเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ไว้ใจได้เสมอ แม้ในปัจจุบันจะมีกลยุทธ์การตลาดที่เข้ามาสร้างความตื่นเต้นและดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคยุคใหม่
จากผลสำรวจของ Marketing Sherpa พบว่า กลุ่มช่วงอายุ 18-34 ปี ประมาณ 70% ต้องการให้บริษัทหรือแบรนด์ธุรกิจทำการสื่อสารกับพวกเขาผ่านทางอีเมล และมีสัดส่วนที่สูงขึ้นในกลุ่มอายุ 35-44 ปี และ 45-54 ปี
อย่างไรก็ตาม แม้อีเมลจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารระหว่างธุรกิจและลูกค้า แต่ก็มีเคสที่ล้มเหลวกับการทำ Email Marketing เช่นกัน ซึ่งสาเหตุสำคัญคือผู้บริโภคยุคใหม่มีความซับซ้อนขึ้น เลือกที่จะเสพข้อมูลข่าวสารหรือเนื้อหาเฉพาะที่ตนสนใจเท่านั้น โดยข้อมูลจาก Demand Metric and Return Path ระบุว่า อัตราการเปิดอีเมลการตลาดอยู่ที่ประมาณ 15% ส่วนอัตราการคลิกจะอยู่ที่เพียง 8%
คำถามคือ เราจะเพิ่มประสิทธิภาพของ Email-marketing ได้อย่างไรบ้าง?
ในวันนี้ NipaMail จึงอยากมาแนะนำ 3 เทคนิค ปรับปรุงแคมเปญ Email Marketing ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ตรงจุดขึ้น พร้อมเพิ่มยอดการมีส่วนร่วม (Engagement) จากการทำ Email Marketing ได้อย่างมีคุณภาพ
1. Email List – จัดกลุ่มรายชื่ออีเมล
สิ่งแรกที่คุณควรทำเพื่อเพิ่มยอด Engagement คือ การแบ่งกลุ่มรายชื่อผู้รับอีเมลให้ถูกต้องและชัดเจน เพราะการส่งอีเมลการตลาดที่มีเนื้อหาเจาะจงหรือตอบโจทย์ผู้รับแบบเป็นรายบุคคล จะทำให้ Email Marketing ของเราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
ยกตัวอย่างเช่น การส่งอีเมลแนะนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้กับกลุ่มลูกค้าผู้หญิงวัยทำงานโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เพียงช่วยเพิ่มอัตราการเปิดอีเมล แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการปิดการขายได้อีกด้วย
ทั้งนี้ หมวดหมู่รายชื่ออีเมลที่นักการตลาดนิยมแบ่งกันในปัจจุบันมีดังนี้
- ตำแหน่งงาน
- ประวัติส่วนตัว
- ประวัติการซื้อขายในอดีต
- ประวัติการเยี่ยมชมเว็บไซต์
- การคลิกหรือเปิดอีเมลในช่วงที่ผ่านมา
2. Subject Line – โฟกัสที่หัวเรื่องอีเมล
เมื่อคุณได้รับอีเมล สิ่งที่จะทำให้คุณตัดสินใจเปิดอีเมลนั้นๆ คืออะไร? คำตอบก็คือหัวข้ออีเมล (Subject Line) นั่นเอง ซึ่งการเขียนหัวข้ออีเมลให้น่าอ่านและน่าสนใจ มี 4 เคล็ดลับง่ายๆ ดังนี้
- Go to the point เจาะจง ตรงใจ! การใช้หัวเรื่องที่บอกเนื้อหาไปตรงๆ ชัดเจน จะทำให้ผู้รับอีเมล รู้ได้ทันทีว่าอีเมลนั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ต้องการบอกอะไร ทั้งยังช่วยให้ธุรกิจสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด
- Personalized เมื่อมีคนเรียกชื่อเรา ยังไงก็ต้องหัน! วิธีการคือ การใส่ชื่อจริง หรือชื่อเรียกของคนที่นักการตลาดกำลังส่ง E-mail นั้นๆ ไป ทำให้ผู้รับรู้ว่า นี่คืออีเมลที่ส่งมาจากคนที่รู้จักจริงๆ นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เรียบง่าย แต่ทรงพลัง
- Star with Question เริ่มต้นที่คำถาม ชวนให้สงสัย การตั้งชื่อหัวข้อด้วยประโยคคำถาม จะทำให้ผู้รับเกิดความอยากรู้อยากเห็น ช่วยกระตุ้นความสนใจได้เป็นอย่างดี โดยอาจนำหลักการ 5W1H มาปรับใช้ในการตั้งคำถาม ได้แก่ Who, What, Where, When, Why และ How
- Specific Offer ขึ้นต้นด้วยดีลสุดพิเศษ! ไม่ว่าใครต่างก็อยากเป็นเจ้าของสินค้าคุณภาพในราคาสุดคุ้มค่า ดังนั้น การตั้งชื่อหัวเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิพิเศษหรือส่วนลดในการซื้อสินค้าและบริการ เช่น Save 50%, ลดจัดหนักมากกว่า 20 รายการ ก็จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการเปิดอีเมลได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ นักการตลาดควรทำ A/B Testing เพื่อประเมินผลและค้นหาวิธีการตั้งชื่อหัวเรื่องอีเมลที่ดีที่สุด เพราะสินค้าหรือบริการแต่ละอย่าง ย่อมมีจุดเด่นหรือจุดขายที่แตกต่างกัน ดังนั้น การตั้งชื่อหัวเรื่องอีเมลก็ควรตั้งให้สัมพันธ์กัน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงเป้ายิ่งขึ้น
3. Frequency and Timing – เลือกความถี่และช่วงเวลาส่งอีเมลที่เหมาะสม
“วันหรือเวลาไหนที่เหมาะที่สุดในการส่งอีเมล?” ช่วงเวลาส่งอีเมลเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะบ่งบอกว่ากลยุทธ์การทำ Email Marketing ของเราประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ การค้นหาช่วงเวลาหรือวันที่เหมาะสมที่สุดนั้น สามารถทำได้โดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาวิเคราะห์ เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมการบริโภคให้มากขึ้น โดยมีผลการศึกษาที่ระบุว่า ช่วงเวลาส่งอีเมลที่ดีที่สุดคือ ช่วงเช้า เวลา 9.00-10.00 น. ช่วงเที่ยง 14.00 น. และช่วงบ่ายระหว่าง 17.00 -18.00 น. ส่วนวันที่เหมาะสมคือ วันอังคาร วันพุธ และวันพฤหัสบดี ส่วนวันที่มีอัตราการเปิดอีเมลต่ำที่สุดคือ วันเสาร์และวันอาทิตย์ เนื่องจากเป็นวันหยุด คนส่วนใหญ่พักผ่อน ไม่ตรวจเช็กอีเมลกันนั่นเอง
สำหรับความถี่ในการส่งนั้น อาจพิจารณาจากจำนวนเนื้อหาและสิ่งที่ Subscribers คาดหวัง ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจส่วนใหญ่เลือกที่จะส่งอีเมลแจ้งข้อมูลข่าวสารเดือนละครั้ง (Monthly newsletter) จากนั้นก็เพิ่มความถี่ขึ้นเรื่อยๆ เป็น เดือนละ 2-3 ครั้ง เป็นต้น
การเพิ่มประสิทธิภาพ Email Marketing ส่งผลดีต่อธุรกิจอย่างไร?
- เพิ่มโอกาสในการขาย เนื่องจากธุรกิจมีรายชื่อกลุ่มผู้รับอีเมลที่มีคุณภาพอยู่ในมือ สามารถส่งอีเมลไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด
- แสดงให้เห็นถึง “ความใส่ใจ” ที่มีต่อลูกค้า เนื่องจากธุรกิจจะคัดเลือกเฉพาะเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับอีเมลแต่ละคน ส่งผลต่อโอกาสในการเปิดอีเมลที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังช่วยสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้อีกด้วย